วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชุดชั้นใน “ไทรอาร์ม” ก้าวต่อไปด้วยฝีมือและจักรเย็บผ้า



บทความนี้นำมาจากเวปไซต์ของนิตยสาร สารคดี ชื่อบทความว่า ชุดชั้นใน “ไทรอาร์ม” ก้าวต่อไปด้วยฝีมือและจักรเย็บผ้า ซึ่งลองใน โลกใบใหญ่ - แรงงาน โดยมี ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน และ บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ ใน ฉบับที่ 304 > มิถุนายน 53 ปีที่ 26 และเผยแพร่ใน http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=1022



จากจักรเย็บผ้าที่สมาชิกขนกันมาจากบ้านจำนวน ๕ หลัง เพิ่มขึ้นเป็น ๙ หลังในเวลาต่อมา แม้จะแตกต่างอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้กับปริมาณจักรนับพันหลังในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่พวกเขาเคยทำงาน แต่การต่อสู้ด้วยฝีมือและจักรเย็บผ้าก็ยังคงดำเนินต่อไป ควบคู่กับการรณรงค์เรียกร้องสิทธิของคนงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ยื่นหนังสือต่อกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศสวิต-เซอร์แลนด์ให้พิจารณาคำร้องว่าบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนที่สวิตเซอร์แลนด์ มิได้ปฏิบัติตามหลักสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ในการเลิกจ้างงาน เป็นต้น

ในส่วนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กางเกงชั้นในไทรอาร์มก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเสมอมา ทั้งจากบุคลากรภายในกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ประชาชนที่รับทราบเรื่องราวผ่านการประชา-สัมพันธ์ของสื่อสารมวลชน ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศที่ติดต่อสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต

จวบจนกระทั่งวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ หลังจากปักหลักชุมนุมมายาวนาน อดีตคนงานที่ถูกเลิกจ้างจึงร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ยอมรับจักรเย็บผ้าจำนวน ๒๕๐ หลัง (จากที่เรียกร้องทั้งหมดจำนวน ๕๖๐ หลัง) เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพ และยุติการชุมนุมในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

จิตรากล่าวว่า “ตลอดการชุมนุมยาวนานถึง ๘ เดือน พวกเราเจอทั้งรอยยิ้มและน้ำตา จากที่ในช่วงแรกมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับพันคน เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเรียกร้องที่ไม่เคยได้รับการตอบสนองไม่ว่าจากรัฐบาลหรือเจ้าของบริษัทก็ทำให้หลายคนถอดใจ แยกย้ายกลับภูมิลำเนาของตนเอง“

๙ มีนาคม ๒๕๕๓ จักรเย็บผ้าในห้องแถวสีฟ้าอ่อนในซอยสุขุมวิท ๑๑๕ ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ประกอบการแห่งใหม่ของชุดชั้นในไทรอาร์ม ก็ได้เริ่มเดินสายพานการผลิตอีกครั้ง

ละมัย วงษ์ละคร วัย ๔๑ ปี อายุงานจากบริษัทเดิม ๑๗ ปี อธิบายขั้นตอนการทำงานภายในสถานที่ทำงานแห่งใหม่ให้ฟังว่า “เราเริ่มต้นด้วยการเลือกซื้อผ้าปลายไม้จากร้านค้าที่เหมาซื้อผ้ามาจากโรงงานผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ผ้าปลายไม้เหล่านี้เป็นผ้าที่โรงงานเย็บผ้าขนาดใหญ่ไม่ใช้แล้ว แต่เรายังสามารถเอามาตัดกางเกงในได้เป็นร้อยตัว นับเป็นผ้าคุณภาพดีที่มีราคาย่อมเยา จากนั้นก็เอาผ้ามาตัดออกเป็นชิ้นตามแม่พิมพ์กางเกงในแต่ละสไตล์ที่ออกแบบไว้ ในขั้นนี้ถ้าเป็นโรงงานใหญ่เขาใช้เครื่องจักรแบนด์ไนฟ์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตัดผ้าตามแม่พิมพ์ที่มีความละเอียดได้คราวละสิบๆ ผืน แต่เราต้องใช้กรรไกรตัด ได้คราวละ ๔ ผืนเท่านั้น จากนั้นก็ส่งผ้า ซับใน ด้าย พร้อมยางยืดหรือผ้ากุ๊นตามแต่สไตล์ให้พนักงานเย็บ

“เมื่อวัตถุดิบถึงมือพนักงานเย็บ กระบวนการเย็บเริ่มต้นจากการเย็บเข้าเป้าด้วยจักรโพ้ง เนาเป้าด้วยจักรเข็มเดี่ยว เข้ายางขอบเอวและขอบขาด้วยจักรโพ้ง โล้มยางด้วยจักรยูดี หรือหากเป็นสไตล์ที่ใช้ผ้ากุ๊นแทนยางก็เปลี่ยนเป็นการใช้จักรซิกแซ็ก ถัดจากนั้นจึงเย็บเก็บปลายด้ายด้วยจักรเข็มเดี่ยว กระบวนการเย็บโดยสังเขปจะเป็นไปตามนี้ แทบไม่แตกต่างไปจากกระบวนการในบริษัทเดิม เพียงแต่สายงานการผลิตเราลดขนาดลง เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อกางเกงชั้นในให้พนักงานตรวจสอบคุณภาพ ตรวจดูการเย็บตะเข็บ สรีระ ทดสอบความทนทานด้วยการออกแรงกระชาก หากไม่มีปัญหาก็บรรจุใส่ซอง รอการจัดจำหน่ายต่อไป”

ในรอบวัน โรงงานหลังน้อยแห่งนี้มีกำลังการผลิตกางเกงชั้นในราว ๒๐๐-๒๕๐ ตัว แบ่งออกเป็น ๗ สไตล์ ได้แก่ เต็มตัวขาเว้า-ขาสั้น ครึ่งตัวขาเว้า-ขาสั้น บิกินีขาเว้า-ขาสั้น และสไตล์ล่าสุดที่ถูกออกแบบให้มีเอวต่ำลงไปจากบิกินีอีกราว ๑ เซนติเมตร ขณะที่การผลิตเสื้อยกทรงและชุดว่ายน้ำยังเป็นเพียงโครงการในอนาคต เนื่องจากประสบปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของจักรเย็บผ้า ปัจจุบันกางเกงชั้นในไทรอาร์มมีราคาตัวละ ๕๙ บาท และ ๖๙ บาทตามแต่ละสไตล์ คิดเป็นราคาต้นทุนผ้า (ต่อตัว) ราว ๑๘ บาท ค่าลูกไม้ ๒ บาท ค่ายางยืด ๑๐ บาท ส่วนต่างที่เหลือจะถูกนำไปแปลงเป็นค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ เงินกองกลาง และค่าแรงของแต่ละคน

ด้วยสนนราคานี้ นอกจากจะทำให้ผู้ผลิตมีรายได้จากการลงแรงทำงานที่ตนเองรักและมีความชำนาญแล้ว หากนำไปเปรียบเทียบกับราคาสินค้าคุณภาพทัดเทียมกันซึ่งวางจำหน่ายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า-ติดตราโลโกยี่ห้อดัง ยังนับว่ามีราคาถูกกว่ามาก

อนาคตของชุดชั้นในไทรอาร์มกับชีวิตคนงานหลังถูกบรรษัทยักษ์ใหญ่เลิกจ้าง ทั้งเขาและเธอต่างเป็นผู้ลิขิตเอง

หมายเหตุ : อุดหนุนสินค้า “ไทรอาร์ม” ได้ที่ www.tryarm.blogspot.com โทร. ๐๘-๗๐๒๐-๖๖๗๒, ๐๘-๙๐๓๕-๖๕๖๔