วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

กกน.Try arm เริ่มสู้ครั้งใหม่ในโรงงานของตัวเอง

กกน.Try arm เริ่มสู้ครั้งใหม่ในโรงงานของตัวเอง


เขียนโดย บุณย์ตา วนานนท์ เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.wechange555.com/กกน.Try-arm-เริ่มสู้ครั้งใหม่ในโรงงานของตัวเอง.html

บ่ายวันพฤหัสฯ ที่ 11 มีนาคม เลยป้ายรถเมล์คาร์ฟูปู่เจ้าไป 1 ป้าย ฉันถึงที่หมายที่สวี สุดารักษ์ บอกฉันไว้ เดินจากปากซอยสุขุมวิท 115 หรือที่คนแถวนี้เรียกว่าซอยอภิชาตเข้าไปจนเกือบถึงซอย 5 โดยสังเกตอาคารห้องแถว 4 ชั้นซ้ายมือ หน้าตึกมีกางเกงในสีเขียวเทาแขวนไว้ ใช่แน่ๆ เมื่อฉันเห็นป้ายสีชมพูสด Try arm แขวนไว้ชั้นลอยด้านใน ส่วนด้านล่างเป็นกลุ่มผู้หญิงและจักรเย็บผ้าวางเรียงรา 

พอรู้ว่าเรามารับกกน. ตามที่นัดกับหนิง จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาของชาว Try arm ซึ่งวันนี้ไปประชุมกับทีมงานข้างนอกเรื่องคดีที่กลุ่มแกนนำถูกฟ้อง จึงเป็นงานของแหม่ม เสาวนีย์ แสงสว่าง ที่พาฉันเข้าไปดูชิ้นงานที่ Try arm จัดเตรียมไว้ให้ 

เป็นดังที่คาดไว้อีกเช่นเคย ไม่ได้ตามออร์เดอร์ ตามที่กลุ่มคนขายอยากได้ ทั้งปัญหาการเลือกหาผ้าปลายไม้ตามสเปก และตัวจักรซึ่งมีปัญหาทั้งจำนวนที่น้อยและมักต้องให้ช่างตั้งเครื่องบ่อยๆ และกิจกรรมอื่นๆ ที่พวกเธอต้องทำกันก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ตามผ้าลายดอก 2 แบบใหม่ที่กลุ่มสาวๆ ที่กำลังเย็บ กนน. ดึงความสนใจฉันไว้ได้ แหม่มพาเดินขึ้นไปชั้นลอยเพื่อให้เลือกดูผ้าซึ่งมีอีก 2 สาวนั่งตัดแบบผ้ากันอยู่ ซึ่งพวกเธอกะว่าจะผลิตออกมาในราคาแพงกว่าเดิม 10 บาทเพราะต้นทุนค่าผ้าที่สูงขึ้น ส่วนแบบเดิมผ้าเดิมยังขายในราคาเดิม สุดท้ายฉันถามว่าถ้าอยากได้ลายดอกอันใหม่ไปเป็นตัวอย่างเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว? แหม่มลังเลไม่แน่ใจ จนทั้งกลุ่มหารือแล้วว่าได้แต่ต้องรอนั่นแหละฉันจึงได้นั่งคุยกับพวกเธอมากกว่าที่เคย

นับแต่วันที่ย้ายออกจากระทรวงแรงงานเมื่อ 28 ก.พ. พวกเธอขนของไปรวมกันที่สำนักงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ แล้วช่วยกันหาที่ทำงานใหม่จนกระทั่งมาเจอที่นี่ซึ่งเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวเก่าที่กำลังย้ายออกไป เจ้าของห้องเช่าคิดราคาค่าเช่า 7,000 บาทต่อเดือนโดยคิดว่าพวกเขาคงอยู่ไม่นานจึงทำสัญญาเช่ากันแค่ปีต่อปี จึงทำให้พวกเธอย้ายข้าวของเข้ามาที่นี่ทันทีเมื่อผู้เช่าเก่าย้ายออก คือเมื่อวันที่ 1 มีนาคม แต่กว่าจะสะสางเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งคดีที่แกนนำถูกฟ้องได้ พวกเธอเพิ่งจะได้เริ่มงานเย็บกกน.กันจริงๆ ก็ปาเข้าไปวันที่ 4 มีนาคม 
“พี่เข้ามาเอา กนน.ที่สั่งไว้ได้เลยนะคะ พวกเรารวมไว้ได้เกือบ 200 ตัวแล้ว” หนิงบอกฉันผ่านทางมือถือเมื่อบ่ายๆ วันพุธที่ 9 มีนาคม 53 เพราะว่า พี่เก๋จะไปประชุมที่เชียงใหม่ศุกร์นี้แล้วอยากได้กกน.ไปฝากน้องๆ ที่นั่นช่วยขาย ครั้นเมื่อถามว่าเพื่อนๆ Try arm เป็นอย่างไร หนิงว่าตอนนี้ก็ทำงานกัน แต่ยังไม่มีเงินจ่ายค่าแรง คิดว่าสิ้นเดือนคงดูกันอีกท

สาว Try arm ซึ่งตอนนี้เข้างานประจำวันกัน 24 คน โดยจะมาลงชื่อกันก่อน 8 โมงเช้าและเลิกงานตอน 5 โมงเย็น แม้จักรที่มีอยู่จะมีไม่ครบให้กับทุกคน พวกเขาก็จะแบ่งส่วนหนึ่งออกไปทำงานข้างนอก เช่น ไปประชุมเรื่องคดีความของแกนนำ การไปเยี่ยมเพื่อตามสหภาพต่างๆ และนำ กกน. Try arm ไปขายตามที่ประชุมต่างๆ ตามที่มีเพื่อนพ้อง เครือข่ายแจ้งมา ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายหลักของพวกเธอในขณะนี้

จักรที่ใช้ในการเย็บกกน. 1 ตัว ต้องมีอย่างน้อย 4 ประเภท เริ่มตั้งแต่จักรเข็มเดี่ยวที่ใช้เย็บนำการเข้าข้าง เย็บป้าย และลูกไม้ จักรซิกแซก ที่ใช้เย็บซิกแซกเพื่อความแข็งแรง และเข้ากุ้นขอบยางยืด จักรโพ้ง และจักรยูดี ซึ่งตอนนี้จักรรวมทั้งหมดเพียงแค่ 8 ตัว ซึ่งใช้งานได้จริง 7 ตัว มี จักร 4 ตัวที่เนเงินรวมกันซื้อเอง นอกนั้นยืมจากเพื่อนมาใช้

มา – กัลป์ชญาษ์ อยู่สบายรุ่งเจริญ อายุ 43 ปี นั่งเย็บจักรโพ้งในส่วนของเป้าและข้างลำตัว เธอว่าส่วนนี้ต้องใช้โพ้งเพราะต้องการความแข็งแรงและป้องกันเป้าแตกปริ และกันลุ่ย มาเป็นคนสมุทรปราการเคยทำงานกับไทรอัมพ์นาน 19 ปี เธอว่าตอนแรกที่ถูกเลิกจ้างเธอตกใจและเครียดมากเพราะเพิ่งตัดสินใจซื้อบ้านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นมาของ Try arm จนได้มานั่งเย็บผ้าที่นี่ทำให้เธอเครียดน้อยลงเพราะโดยอายุเธอแล้วไม่แน่ใจว่าจะไปหางานอย่างอื่นได้ 

ไม่ต่างกับกับน้องเล็ก - บัณฑิตา หมวดธรรม ที่กำลังเย็บจักรยูดี ซึ่งเป็นจักรพิเศษ 2 ตะเข็บใช้ล้มตะเข็บยางยืดให้สวยงาม เล็ก อายุ 35 น้อยที่สุดในกลุ่มและไม่ค่อยพูดอะไร เธอเคยทำงานกับไทรอัมพ์มาถึง 15 ปี เธอบอกว่าถ้ารู้ว่าจะเลิกจ้างแบบนี้เธอไม่ตัดสินใจซื้อบ้านโครงการเอื้ออาทร ซึ่งการตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิตเธอก่อนการถูกเลิกจ้างไม่นานนัก

นุช – ชมพูนุช สันป่าแก้ว อายุ 40 ปี เคยทำงานกับไทรอัมพ์มา 18 ปี เป็นชาวเชียงรายแต่ครอบครัวเธอทั้งหมดย้ายเข้ามาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ บอกว่าตอนนี้พวกเราทั้งหมด 1,959 คนที่ถูกเลิกจ้างรอวันที่ 17 มีนาคมนี้ เรานัดจะมาคุยกันทั้งหมดอีกครั้งเพราะเป็นวันที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานนัดให้ไปรับจักรที่พวกเธอขอไว้ 560 ตัว แต่ทางกรมพัฒน์ฯ แจ้งยืนยันกลับมาว่ามีให้ได้แค่ 250 ตัวเท่านั้น!

ลุงคง – ศีรพชร์ ถนอมพันธุ์ ผู้ชายวัย 41 ปี 1 ใน 2 ของผู้ชายจากกลุ่มแรงงานสาวทั้งหมดของ Try arm ซึ่งเคยทำหน้าที่สโตร์และจ่ายงานเมื่อตอนอยู่กับไทรอัมพ์มาเกือบ 17 ปี บอกว่าเมื่อวานเพิ่งไปดูจักร 50 ตัวที่กรมพัฒน์กำลังประกอบอยู่ ได้จักรมาแล้วนั่นแหละพวกเราจึงจะรู้กันว่าจะทำอะไรยังไงกันต่อ 

ส่วนจักรที่มีอยู่ในสำนักงานใหม่ของชาว Try arm ต้องอาศัย นุช - อรนุช เชือนรัมย์ ช่างสาวอายุ 35 ปีชาวบุรีรัมย์ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับไทรอัมพ์มาถึง 17 ปี ช่วยซ่อมแซมและตั้งเครื่องสำหรับผ้าที่แตกต่าง ก่อนที่นุชจะกลับหลังซ่อมเครื่องจักรเสร็จนั้น แหม่มบอกนุชว่าค่าแรงเอาไว้ก่อนแล้วพรุ่งนี้ให้นุชมาอีก นุชยิ้มพยักหน้ารับพลางว่า “ค่าแรงค่อยว่ากันที่หลังก็ได้” แบบง่ายๆ

เวลาที่ใช้ผลิตกางเกงในลายดอกตัวใหม่ 25 ตัวเคลื่อนผ่านไปพร้อมกับเรื่องราวของพวกเธอ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดกัน อายุงานเฉลี่ยที่เคยทำกับไทรอัมพ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปีเป็นส่วนใหญ่ มี “ป้า” อายุมากที่สุด 49 ปี คนที่มีอายุงานน้อยที่สุดในกลุ่ม คือ 7 ปี 8 เดือน เห็นจะเป็น วัน วันจรา อินทร์ทอง (38 ปี) 

กิ๊ก ธนวรรณ ใจปัน อายุ 42 ปี ทำงานเป็น QC มาก 19 ปี กับไทรอัมพ์ บอกกับเราว่าหน้าที่นี้ไม่ถูกฝึกให้ทำงานจักรอะไรสักอย่าง ขณะที่เพื่อนๆ ที่ทำงานจักรจะทำได้ทั้งหมดและแค่ดูแบบก็ทำได้เลย คนเย็บจักรแต่ละคนจะได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปเย็บจักรทั้ง 4 แบบตามแต่ “ซุป” จะเป็นคนกำหนด พวก QC จะเป็นคนคอยดูคุณภาพ ตรวจดูตะเข็บ ดูขา 2 ข้างให้เท่ากัน ดึงเป้าว่าแข็งแรงไหม เราเลยคิดว่าพวกเราทำโรงงานกันเองก็ได้ไม่ต้องมี “ซุป” 

ฉันนั่งดูพวกเขาช่วยกันเย็บกกน. ช่วยตรวจคุณภาพกันไปพร้อมกับความคาดหวังที่จะมีกกน.ในคุณภาพดี ราคาถูก และอุดหนุนกลุ่มแรงงานคนผลิตโดยตรงอย่างที่ได้ยินได้ฟังจากฝั่งเพื่อนๆ ที่ช่วยกันเอาไปขายกันในบ้าน ในออฟฟิส และห้องเรียนในมหาวิทยาลัย กับการประเมินรายได้และการผลิตที่แท้จริงที่ต้องรอดูอีกคราวในวันที่ 17 มีนาคมนี้ 

จากค่าแรงวันละ 355 บาท และอาจจะมีค่าโอทีกับค่าเร่งงานพิเศษเป็นคูปองค์ในระบบโรงงานที่พวกเธอว่าถ้าทำแบบนั้นใครทำมากได้มากจนบางคนนั่งทำกันทั้งวันแบบ “อั้นขี้อั้นเยี่ยว” และระวังการเขม่นมองของ “ซุป” มาสู่โรงงาน Try arm กับ concept ใหม่ แบบ “กางเกงในยิ้ม : ยิ้มกันทั่วทั้งคนใส่คนทำ” กับสัญลักษณ์กำปั้น ที่หมายถึง “สู้” ที่ชาว Try arm ริเริ่มก่อเกิดหลังวิกฤตเลิกจ้างและการชุมนุมยาวนาน 8 เดือนที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เป็นทางเลือกที่นุชว่ามันใช่กว่า

นุช – ชมพูนุช เล่าให้ฉันฟังในรถเมลล์หลังโรงงานปิด เธอว่าจำได้วันแรกที่พวกเธอถูกเลิกจ้างและยืนตากฝนกันชุมนุม 8 เดือนมันทำให้เธอได้รู้ความจริงว่าเธอสู้กับอะไร ที่ผ่านมาเมื่อตอนอยู่ในโรงงานจะมีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้เงินมากๆ ตอนทำคูปองค์ จนเกิดเป็นกลุ่มทะเลาะกันบ้าง แต่เวลามีปัญหากับบริษัทเรื่องความไม่ถูกต้องเรารวมกันสู้เสมอ เธอนึกถึงเพื่อนที่รับ out source เย็บผ้าโหลอยู่กับบ้านที่บอกว่าเหนื่อยมากและเหมือนไม่ได้อะไร และอยากให้มาทำด้วยกัน ถึงตอนนี้ก็ไม่เสียใจแล้วแหละเพราะเราได้สู้กับมันมาแล้วอย่างเต็มที่จริงๆ 

สนใจสั่งซื้อกางเกงใน Try arm
ติดต่อได้ที่ หนิง จิตรา คชเดช โทร. 087-020-6672
www.tryarm.blogspot.com

มา นุช แหม่ม และเพื่อนๆ Try arm เล่าความคืบหน้าเมื่อย้ายเข้ามาที่ตั้งโรงงาน Try arm แห่งใหม่ของพวกเขา ในคลิ๊ป new plant Try arm ( 5.47 นาที) ที่http://www.youtube.com/watch?v=8RA4odVA40E