วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

TRY ARM....ไม่ไช่แฟชั่นเเต่มันคือการต่อสู้ การต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี แรงงานสตรี และครอบครัวที่ต้องรับภาระ


บทความชิ้นนี้นำมาจาก เวป สิ่งที่ได้จากการเรียนสิทธิมนุษยชน LA396 linkhttp://learners.in.th/blog/jess5201682480/367070

ที่เขียนโดย ID : jess5201682480 ซึ่งเป็น นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเชียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2553 19:51 (แก้ไข: 10 พฤษภาคม 2553 20:03)


TRY ARM....ไม่ไช่แฟชั่นเเต่มันคือการต่อสู้ การต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรี แรงงานสตรี และครอบครัวที่ต้องรับภาระ

เรื่องราวตอนนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องราวที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ห้องเรียนสิทธิมนุษยชนของผมได้ดีผมคงไม่เเน่ใจว่าตรงหรือไม่กับการเรียนรู้เเต่ส่วนหนึ่งที่เข้าเรียนมาทุกคาบผมคิดว่าผมได้เข้าใจการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน คำว่าสิทธิมนุษยชนไม่มากก็น้อยจะถูกหรือผิด็คงเป็นความคิดในเเบบของผม

เรื่องราวตอนนี้เกิดตอนมาเรียนห้องเรียนสิทธิมนุยชนหลังเลิกเรียนผมเดินลงมาเจอกลุ่มผู้หญิงสองสามคนยืนขายชุดชั้นในสตรียี่ห้อ ทรายอาม ผมคิดในใจเอ้าของก็อบไทอั้มยี่ห้อโด่งดังมาขายแบบนี้เหรอ เข้าไปสอบถามได้ทราบถึงคำพูดพร้อมเเววตาที่หม่นหมองผ่านสมรภูมิรบมาก้ว่าได้ แววตาที่น่าสงสารยื่นใบสีขาวให้ผมและบอกว่าพวกพี่ไม่ได้ก็อบใครเราต่างหากเป็นคนสร้างมันขึ้นมาด้วยมือของพวกเรา เเรงงานที่เหน็ดเหนื่อยผลตอบรับที่ได้กลับมีค่าเเค่ชุดชั้นในยี่ห้อดังประมาน40ตัวเท่านั้นและโดนปลดออกจากบริษัทด้วยเหผลทีไม่มีมุล เช่น มาสาย ลาบ่อย ท้อง เเรงงานสตรีเหล่านี้จะทำอย่างไรได้ จึงต้องมาทำกันเองส้รางแบรนด์ของตัวเองเพื่อความอยู่รอด ใบสีขาวที่ยื่นมามีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจากการถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ผมกลับมาจึงมาสืบค้นเรื่องราวข้อมุลที่น่าจะเป็นการสะท้อนถึงสังคมไทยในเรื่องสิทธิสหาภาพเเรงงานได้ดีรวมถึงสิทธิสตรีในโรงงานที่ได้รับการกระทำที่ไม่สมควรนักซึ่งยังมีอยุ่มากในหลายโรงงานในเมืองไทย โดยเรื่องราวเป็นดังนี้ครับ...



พนักงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph),วาเลนเซีย ( Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (Amo) และ ออม (Hom) จำกัด1,959 คน ถูกบอกเลิกจ้างโดยไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน สืบเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างกิจการทั่วโลก 


เวลาประมาณ 01.00น. ของคืนวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน ผู้โชคร้ายได้รับข่าวผ่านข้อความสั้นในโทรศัพท์มือถือให้มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงจากบริษัท ที่ไบเทค บางนา ในเช้าวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน

"พอไปถึง คนที่มาแจกซองเป็นทหารใส่ชุดดำ พกอาวุธ ก่อนเข้าไปมีการตรวจกระเป๋าขวดน้ำก็ไม่ให้เอาเข้า คิดดู ใครมันจะพกอาวุธไป เราเองยังไม่รู้เลยว่าไปทำอะไร" บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า ในจำนวน 1,959 คนนี้ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขาด ลา มาสาย 2.คนท้อง 3. อายุงานมาก และ 4.เจ็บป่วยจากการทำงาน

เงินชดเชยที่ได้มาจากบริษัท บุญรอดบอกว่า เท่ากับชุดว่ายน้ำดีๆ 40 ตัว

จึงเป็นที่มาของการชุมนุม ซึ่งตอนนี้กระจายกำลังเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกหน้าโรงงานย่านบางพลี กับกลุ่ม Try Arm นี้ ใต้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม



คราบน้ำตาจากชุดชั้นใน ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เมื่อสองเดือนก่อน จางหายไปแล้ว เพราะวันนี้ พวกเธอกำลังมีความสุข กับแบรนด์ใหม่ที่ปั้นมาเองกับมื


แม้จะเป็นเพียงชิ้นใน แต่เวลาเลือกซื้อที พิถีพิถันไม่แพ้ครีมบำรุงดีๆ สักกระปุก
หนึ่ง ต้องใส่สบาย สอง ผ้าดี เนื้อนิ่ม แนบกระชับไปกับสะโพก และ สาม เซ็กซี่ด้วย...จะดีมาก

ถ้าได้สามอย่างนี้ ก็จะครบคุณสมบัติดีๆ ที่ "กางเกงใน" สักตัวพึงจะมี ซึ่งก็อาจจะมาพร้อมป้ายราคาที่แพงจนซื้อไม่ลง

แต่คงไม่ใช่กางเกงในยี่ห้อ Try Arm แน่ๆ 


ชูแบรนด์ด้วยกำปั้น

ถือเป็นแบรนด์ใหม่หมาด เปิดตัวได้อาทิตย์กว่าๆ แต่ Try Arm (ไทร-อาร์ม) ก็ขายดิบขายดีชนิดผลิตกันไม่ทัน

หลังจากนั่งรอความหวังมาร่วม 4 เดือน ปฏิกิริยาทั้งจากอดีตนายจ้างและภาครัฐยังเงียบกริบ สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล อดีตพนักงาน 1,959 คน ที่ถูกบอกเลิกจ้างเมื่อเดือน ปลายเดือนมิถุนายน 2552 จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาทำมาหาเลี้ยงตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม เปิดตัวชุดชั้นในแบรนด์ Try Arm โลโก้ กำปั้นชู ทดลองตลาดด้วยคอลเลคชั่นแรง กางเกงในรุ่น 1959

"ตั้งใจให้เป็นที่ระลึก เตือนความทรงจำว่าเราถูกออกด้วยรุ่นนี้" สุมาลี นันทบุตร หรือ สุ หนึ่งในสมาชิก 1,959 คน โชว์ให้ดูพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะชี้ไปที่โลโก้กำปั้นอันแข็งขัน และชื่อยี่ห้อที่คงพอจะเดาความหมายกันออก

"ทีแรกคิดกันว่าจะไม่เอาไทรอัมพ์เลยดีไหม แต่เราอยากให้รู้ว่าที่มาที่ไปมันมาจากตรงนี้ และมันเป็นความพยายามของแขนของมือเราในการทำขึ้นมา" ธัญยธรณ์ คีรีดาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ช่วยเสริม

เกือบทั้งหมดใน 1,959 คน มาจากแผนกชุดว่ายน้ำ ซึ่งถูกยุบด้วยเหตุผลที่บริษัทอ้างว่าไม่มีกำไร กับข้อหาที่ว่า ทำได้แต่ชุดว่ายน้ำ

"ก่อนมาเย็บชุดว่ายน้ำ เราเย็บกางเกงใน เสื้อในมาก่อน เวลาออเดอร์มาเยอะ ผลิตไม่ทัน เรานี่แหละที่สลับไปช่วย เราทำได้ทุกอย่างขอให้มีแบบมา ไม่ว่าจะเป็นสเตย์ ยกทรง กางเกงใน" 

ที่ชุมนุมใต้อาคารกระทรวงแรงงานจึงถูกดัดแปลงให้เป็นโรงงานชั่วคราว เริ่มเดินเครื่องด้วยจักร 10 ตัว และพนักงานที่มีครบทุกแผนก

"เพราะที่ถูกไล่ออกมีทุกแผนกเลย ทั้ง ดีไซน์ ตัด เย็บ คิวซี สโตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะดีไซน์ เราได้มือ 1 ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก แต่ถูกบอกเลิกจ้างไป 2 ปีก่อนหน้าเรา เขาเห็นข่าวในทีวีแล้วมาหาเราบอกว่าอยากช่วย ไม่คิดค่าแรง มาออกแบบให้อาทิตย์ละครั้ง" ธัญยธรณ์ เล่า


39 บาท ขาดตัว

อาจพูดได้ว่า "ไทร-อาร์ม" เริ่มต้นด้วยกำลังใจ กำลังแรง โดยอาศัยกำลังเงินน้อยมาก

เพราะจักร 10 ตัวก็ขนเอามาจากบ้านสมาชิกสหภาพฯ ที่ซื้อเก็บไว้รับจ๊อบ ซ่อม ปะ ชุน หารายได้พิเศษที่บ้าน ส่วนสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำไฟ ใช้ฟรีใต้กระทรวง จะลงทุนก็แค่วัตถุดิบหลักๆ อย่างผ้า ด้าย ยางยืด ซึ่งเรี่ยไรกันจากสมาชิก

เรื่องเย็บไม่เท่าไหร่ เคยๆ มือกันมาแล้ว แต่ปัญหาที่เหล่านักเย็บใต้กระทรวงหนักใจคือ การเดินออกไปหาซื้อวัตถุดิบ ซึ่งยังอยู่ในขั้นลองผิดลองถูกกันอยู่ เพราะที่ผ่านมาถนัดแต่เย็บกันอย่างเดียว

"เริ่มที่พาหุรัด ไปดูผ้า อันไหนนิ่มๆ เนื้อเหมือนกับที่เราเคยเย็บก็ลองซื้อกลับมา ลูกไม้ก็เหมือนกัน ถามว่าผ้าอะไรเราก็ไม่รู้หรอก แต่ก่อนรู้แค่ชื่อภาษาอังกฤษ จำไม่ได้ พอมาซื้อเองก็ถูกบ้างผิดบ้าง" หวี หรือ สวี สุดารัตน์ อีกหนึ่งแผนกเย็บ เผยและบอกอีกว่า ด้วยความไม่แน่ใจประกอบกับทุนที่มีจำกัด จึงไม่กล้าซื้อวัตถุดิบทีละเยอะๆ อย่างผ้า ปกติซื้อกันเป็นม้วน แต่พวกเธอซื้อทีเป็นกิโลกรั 

ได้ของแล้ว นตอนต่อมาคือ เซ็ตจักรให้ตรงกับงานและแบบที่จะทำ ส่วนกระบวนการผลิตให้เป็นตัวต่อจากนั้น ไม่เป็นปัญหา เพราะฮาวทูที่ใช้ในโรงงาน ยังชัดเจนอยู่ในสมอง

"เริ่มจากวางแพทเทิร์น ตัด ต่อด้วยเข็มเดี่ยวคือวางลูกไม้ไว้ด้านหน้า เย็บซิกแซก จับโพ้ง คือ เย็บเข้าข้าง เข้าเป้า พอเป็นตัวขึ้นมาก็ไปเย็บยางขา เย็บทับยางเอว จากนั้นล้มสองเข็มทับยาง (ล้มยูดี) ถ้าเราไม่เย็บล็อคย้ำ ชายมันจะเลิกขึ้น"

พอเสร็จเป็นตัว ก็เอาผลงานมาทดลองโดยการลูบไปกับเนื้อ ถ้ารู้สึกถึงความสากเพียงนิดเดียว จะต้องเลาะทันที

"ต้องเนียนมากๆ เพราะตอนที่อยู่โรงงานถ้าไม่เนียนนะ หัวหน้าจะด่าทันที เย็บยังไงไม่เนียน เดี๋ยวลูกค้าใส่แล้วมันไม่ลื่น ระคายผิว" แทบจะทันที มีเสียงแทรกขึ้นมาอีกว่า "เหมือนมันอยู่กับเรามาตลอดแล้วพอมาทำอย่างนี้ มันต้องเป๊ะๆ บางทีหัวหน้าบอกว่า เอาไปเถอะแค่นี้ แต่เราเองที่บอก ไม่ได้ ทำให้มันสมราคาหน่อย ของเค้าขายแพง" แหม่ม - เสาวณีย์ แสงสว่าง ช่างเย็บผู้มีอายุงานในโรงงานถึง 19 ปี ขอร่วมวง

เนียนไม่พอ ขั้นตอนคิวซี (Quality Check) ต่อมาคือการดึงเจ้าตัวจิ๋วให้สุดแรงเกิด เพื่อทดสอบความยืดหยุ่น ถ้าผลการทดลองออกมาว่าด้ายขาด ก็ต้องเลาะรื้อใหม่หมด

จนได้ผลงานเนี้ยบไม่มีที่ติแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ จำหน่าย รองประธานสหภาพฯ เผยว่า เตรียมหน่วยขายไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานที่นั้นกำลังปรึกษากันอยู่ว่าจะไปตามตลาดนัด หรือขายตามโรงงาน

"ขายตรงเลยก็ได้นะ ประมาณว่าใช้ดีแล้วช่วยบอกต่อ" สุ เสนอความคิด

ส่วนหนึ่งเพราะสุมั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบ ความประณีตในการเย็บ และราคาสุดคุ้ม

กางเกงในไม่ว่าไซส์ S M หรือ L ยี่ห้อ Try Arm ก็เคาะราคาขายตัวละ 39 บาทหมด

"ถุงใส่ขายใบละ 90 สตางค์ ตัวหนึ่งใช้ยาง 1 เมตรประมาณ 3 บาท รวมค่าผ้า ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ยี่สิบกว่าบาท อันนี้เราซื้อวัตถุดิบทีละไม่เยอะนะ ถ้าซื้อทีละเยอะๆ จะถูกกว่านี้อีก เลยตกลงกันว่าจะขายราคาเท่านี้ ไม่ขูดรีดคนไทยด้วยกัน และที่สำคัญ เราอยากให้ไทรอัมพ์รู้ว่าเราก็ทำได้เหมือนกัน แถมราคาถูกกว่าด้วย" แต่ราคานี้ยังไม่รวมค่าแรง หวีเสริม

กำลังการผลิตวันแรก (พุธที่ 27 ตุลาคม) อยู่ที่ 20 กว่าตัว วันที่สอง เริ่มเข้าที่เข้าทางก็เพิ่มเป็น 50-60 ตัว วันที่สามยอดตอนบ่ายอยู่ที่ 100 ตัวเศษ

ตอนนี้ฝ่ายขายของTry Arm ยังไม่ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะลำพังขายหน้าจักรตอนนี้ก็แทบไม่ทัน มีลูกค้าเดินเท้าเข้ามาอุดหนุนเป็นระยะ จนไม่พอขาย

"เมื่อวานก็มีเลขารัฐมนตรีลงมาซื้อ เขาบอกว่าใส่ดีมาก" หวีเล่าไปยิ้มไป แถมยังอวดอีกด้วยว่า ยังมีอีกหลายเจ้าที่ติดต่อขอรับซื้อไปขายต่อแต่ต้องปฏิเสธไปเพราะทำไม่ทันจริงๆ


ไม่มีเจ้านาย-ลูกน้อง


ก่อนเดินฝีจักร มือเย็บตัวแม่อย่าง หวี แหม่ม และ สุ ก็หวั่นๆ อยู่เหมือนกันว่า ผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร

แต่พอยอดขายกับคำชมกลับมาชนิดดีใจหาย ทั้งสามและเพื่อนๆ เหมือนได้แรงฮึดลูกใหญ่ ในการก้าวต่อไป ไม่หวังกลับไปเป็นลูกจ้างอีกแล้ว

"คงต้องเป็นอย่างนั้นแหละ" แหม่มที่ดูเหมือนยังอาลัยอาวรณ์มากที่สุด เปรยขึ้น

ต่างจากหวีและสุ ที่บอกว่านั่งทำงานใต้กระทรวงแรงงาน มีธรรมชาติพัดลมมาให้ทั้งวัน สบายกว่ากันเยอะเลย

"บางคนยังนั่งทานกาแฟ นั่งทำโน่น ทำนี่ก่อน แล้วค่อยมาทำงาน ไม่เครียดเท่าไหร่ ได้ออกกำลังกายตอนเช้าด้วย ว่างก็ร้องรำทำเพลง" หวีเล่ากิจวัตรให้ฟัง ระหว่างทำงานก็ผ่อนคลายมากขึ้น ภายใต้บรรยากาศทำกันไปคุยกันไป ใครทำไม่ได้ในขั้นตอนไหน ก็ปรึกษาหรือช่วยเหลือกัน

ตรงข้ามกับชั่วโมงการทำงานใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่แหม่มบรรยายว่า พนักงานคุยกันเองไม่ได้ สงสัยอะไร ถามได้คนเดียวคือ หัวหน้า 

"บางทีเราว่าไม่สวยแต่หัวหน้าว่าสวย เราก็เถียงไม่ได้ เราเป็นคนเย็บเรารู้ว่าอะไรสวยไม่สวย แต่หัวหน้าเขาเย็บไม่เป็น แค่อ่านวิธีทำ อ่านตำราภาษาอังกฤษเอา"

ธันยธรณ์ เผยต่อว่า ระบบโครงสร้างคร่าวๆ ของ Try Arm จะมีหัวหน้า ลูกน้อง ทุกคนเป็นพนักงานเท่าเทียมกันหมด พนักงานคนไหนแก่ก็จะไม่ให้ออก แต่จะโอนย้ายไปอยู่แผนกที่ใช้แรงและสายตาน้อยลง ส่วนค่าตอบแทนก็จะใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาช่วย

"เขามาไล่เรา เราก็ไม่ไป เรามีความสุขแล้ว บ้านก็ไม่ต้องเช่า บางคนคืนห้องไปหมดแล้ว" สุที่กินนอนที่นี่ บอกความรู้สึก



เข้าใจหัวอกนายจ้างมากขึ้น

มองโลกในแง่ดี การทำ Try Arm แทน Triumph ก็ทำให้สาวๆ นักเย็บ นอกจากจะมีเวลาหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น และหูตาสว่างกับบางเรื่องมากขึ้น

"สมัยก่อน กว่าจะได้บรรจุงาน ตั้ง 4 เดือนนะ ระหว่างนั้นห้ามขาดลา มาสาย ต้องทำงานได้ตามเป้า ช่วงนั้นร้องไห้ทุกวันเลย กลัวไม่ได้บรรจุ พอบรรจุแล้ว อีก 6 เดือนถึงจะได้ปรับเงินเดือน แถมประเมินผลทุกๆ 3 เดือนอีก และถ้าทำได้ไม่เข้าเป้า รุ่งเช้าก็จะถูกเรียกเข้าห้องเย็น โดนหัวหน้าซักว่าทำไมทำไม่ได้" แหม่ม ยังจำได้ดี
ถึงอย่างนั้น ด้วยแบรนด์ที่ติดตลาดไปทั่วโลก ก็ยังมีคนสนใจ อยากเข้ามาเป็นฉันทนาของมงกุฏใบนี้ให้ได้

"เราทำงานแบบคูปองนาที ยิ่งทำได้มากก็ได้เงินมาก ป่วยแค่ไหนก็ไม่ลา กลัวไม่ได้เบี้ยขยัน 450 บาท ขนาดวันหนึ่ง รถรับส่งพนักงานเกิดอุบัติเหตุชนนะ เพื่อนบางคนเลือดไหลเต็มเสื้อก็ไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่มารูดบัตรเข้าทำงานก่อน วันนั้นมันสิ้นเดือนพอดี ต้องมารูดบัตรให้ทัน" แหม่ม ขำขื่นๆ

เช่นเดียวกับหวีที่สมัยก่อนไม่เคยพลาดเบี้ยขยันแม้สักเดือน

"พอมาคิดย้อนหลังนะ แหม (เสียงสูง) ทำไมเราต้องทำขนาดนั้นด้วยวะ" อดีตพนักงานดีเด่นตบเขาฉาด

แม้สายพานการผลิตภายใต้แบรนด์น้องใหม่จะเพิ่งเริ่มต้น แต่อย่างน้อยๆ การเปลี่ยนจากสถานะจาก "ช่างเย็บ" ในวันนั้น มาเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน ณ วันนี้ ทำให้ชีวิตที่สิ้นหวัง รอแค่ค่าชดเชยไปวันๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้จำนวนเงินที่ได้จะยังเทียบไม่ได้กับฐานเงินเดือนเก่าก็ตาม

และอย่างน้อย ฉันทนาเหล่านี้ก็ได้ทำรู้จักและเข้าใจ "นายจ้าง" มากขึ้น

"จากเงินทุนต่อตัวที่เราคิดมันแค่ไม่กี่สิบบาท แต่พอเอาขึ้นห้าง แพงจนซื้อไม่ลง เราคนเย็บเองยังไม่เคยซื้อใส่ ต้องรอแต่เขาเอามาเซลล์ถึงจะได้ซื้อ เลยอยากถามว่า ส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับราคาขาย มันไปอยู่ไหน และทำไมถึงจ้างเราออกด้วยมูลค่าเท่ากับเสื้อในแค่ 40 ตัว (ราวๆ 150,000 บาท) เท่านั้น" สุ ตั้งคำถาม

กระบวนการถัดจากนี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์วางไว้ว่า หลังจากผลิตกางเกงในได้ในปริมาณมากและคุณภาพเข้าที่เข้าทางแล้ว จะจัดงานเปิดตัว แยกแยะต้นทุนให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อชี้แจงให้สังคมได้รับรู้ หลังจากนั้นจะเดินหน้าขายอย่างเต็มตัว ในราคาที่ยืนยันว่าไม่แพง เอาแค่พออยู่ได้

"เราก็อยากให้คนไทยสนับสนุนแรงงานไทยด้วยกัน แต่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนนิสัยคนไทยได้หรือเปล่า อยากให้สนใจสินค้าไทย ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน หรือใครสนใจอยากเข้ามาเรียนรู้ เราก็ไม่หวง ขอแค่เป็นนักสู้เหมือนกันก็พอ" หวี ยืนยัน

ถึงจะเน้นไปที่คุณภาพการผลิต แต่ในมุมการออกแบบ ดีไซน์ให้สวยงาม ก็เป็นอีกสิ่งที่ Try Arm ไม่ลืม

"อันไหนน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม เราก็หยิบมาใส่ ไม่ต้องห่วง ขั้นตอนนี้เราได้อดีตมือดีไซน์อันดับ 1 ของโรงงานมาทำให้ อย่างที่บอก" หวี บอกอีกว่า ตอนนี้กางเกงในที่ทำออกมามีทั้งหมด 6 รุ่นเลิกจ้าง ได้แก่รุ่น 1959 - 1964

และอีกรุ่นหนึ่งที่ยังไม่เปิดตัว ซึ่งหวีหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้อง เซ็กซี่สุดๆ


"เรียกว่ารุ่นอีแรดค่ะ มาจาก แอลแรด (LRAD : เสียงเครื่องสลายม็อบ) ที่รัฐสภาเขาเปิดไล่เรา ต้องเซ็กซี่มากๆ เข้ากับอาวุธสงครามดี" 

ส่วนลูกค้าที่ถามถึง "บรา" นั้น หวีบอกว่า ต้องรออีกนิด รอให้กระบวนการผลิตท่อนล่างเข้าที่เข้าทางก่อน



หากอ่านมาถึงตอนนี้ทุกคนก้คงจะเข้าไจเรื่องราวคร่าวคร่าวของการต่อสู้เพื่อสิทธิของการเป็นลูกจ้าง สิทธิของสตรี สิทธิของการดำรงอยู่เพื่อความอยู่รอดของตนผมคิดว่าน่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสิทธิสตรีและสิทธิเเรงงานได้ดีอีกตัวอย่างหนึ่งอย่างน้อยผมก้ขอเป็นคนคนหนึ่งให้กำลังใจพี่เค้าสู้เพื่อความยุตฺธรรมต่อไป และขอให้แบรนด์ทรายอาร์มโด่งดังมากมากครับ เเละที่สำคัญผมก็ได้อุดหนุนของพี่เค้าไปแล้วคครับ(ไม่ได้ไช้เองนะครับซื้อเป็นของฝากพี่สาวครับ)....



อ้างอิงจาก www.tryarm.org

www.tryarm.blogspot.com