วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

"ฮาร่า"สู่"ไทรอัมพ์" พลังหญิงสู้นายทุน



โดย ณัฐพงษ์ บุณยพรหม (ข่าวสดรายวัน วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6919 หน้า 5)

เป็นเวลากว่า 5 เดือน แล้วที่อดีตพนักงานหญิง 1,959 ชีวิต ของ บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ไทรอัมพ์ วาเลนเซีย และ สล็อกกี้ ถูกนาย จ้างเลิกจ้าง ด้วยเหตุผลจากพิษเศรษฐกิจ

แต่ ยังมีสมาชิกของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์ เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย บริษัทในเครือ ประมาณ 200-300 คน ที่ไม่ยอมแพ้ ชุมนุมที่หน้าบริษัท ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 2552 เพื่อให้บริษัทรับกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่ข้อเรียกร้องยังไม่บรรลุผล

ต่อมา พวกเขาตัดสินใจปักหลักชุมนุมแบบยืดเยื้อ โดยใช้พื้นที่ใต้อาคารของกระทรวงแรงงาน หวังว่าจะได้รับชัยชนะจากการต่อสู้ จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว การชุมนุมของแรงงานหญิงไทรอัมพ์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมี น.ส.จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานฯ เป็นแกนนำ

ด้วยการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ พนักงานทั้งหมดไม่มีรายได้ จึงจำเป็นต้องหาทุนรอนไว้ สำหรับการต่อสู้ในระยะยาว

ด้วยพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เคยทำงานในแผนกชุดว่ายน้ำ และแผนกชุดชั้นใน พวกเขาจึงรวมตัวกันผลิตชุดชั้นในออกมาขายภายใต้แบรนด์ "ไทร อาร์ม" (Try Arm)

ธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เล่าถึงแนวคิดนี้ว่า ชุดชั้นในยี่ห้อไทร อาร์ม มีความหมายว่า มือที่ทำงาน เพราะพวกเราเป็นคนทำงาน พนักงานแต่ละคนมีฝีมือ และประสบการณ์ในการเย็บผ้ามานานกว่า 10 ปี แม้นายจ้างจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชย และเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมอีกคนละ 1 เดือน ของเงินเดือนงวดสุดท้าย แต่พวกเราทุกคนอยากกลับเข้าทำงาน



ดังนั้น จึงเริ่มมองว่าจะมีวิธีไหนที่จะใช้ต่อสู้กับบริษัทได้ แนวทางนี้ก็เป็นการต่อสู้ที่ดี จึงเริ่มคิดทำชุดชั้นในขึ้น โดยเริ่มผลิตกางเกงใน ขึ้นวันแรกเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่อง จากยังขาดอุปกรณ์และความพร้อมในเรื่องต่างๆ จึงทำแต่กางเกงใน แต่ในอนาคตอาจจะรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น แต่จะไม่ทำในแง่ของระบบเงินทุน

ขณะที่ สวี สุดารัตน์ ผู้มีหน้าที่ควบคุมการผลิตชุดชั้นใน บอกว่า วิธีการผลิตของพวกเรา คือ ใครมีจักรเย็บผ้าก็ให้นำมาใช้ จนในที่สุดหาจักรได้ทั้งหมด 9 ตัว แรงงานก็เป็นพี่น้องไทรอัมพ์มาช่วยกัน เนื่องจากจำนวนคนและอุปกรณ์ที่จำกัด จึงผลิตกางเกงในได้วันละ 60-70 ตัว ผลิตออกมาหลายสี หลายขนาด ตั้งแต่ไซซ์เอส ไปจนถึงเอ็กซ์แอล

ส่วนราคาก็ไม่แพง แล้วแต่เนื้อผ้า ถ้าเป็นแบบธรรมดา ตัวละ 39 บาท หากผ้าเนื้อดีราคา 79 บาท เป็นราคาต้นทุน ยังไม่ได้บวกค่าแรง พวกเราไม่ได้ทำแค่ชุดชั้นในเท่านั้น แรงงานบางส่วนยังช่วยกันเย็บผ้าห่ม ผ้าพันคอ สานตะกร้า ภายใต้ยี่ห้อไทร อาร์ม ออกมาขายอีกด้วย



สวี บอกว่า การออกแบบกางเกงใน จะมีดีไซเนอร์ของบริษัทไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างไปแล้วมาช่วยออกแบบให้ สำหรับขั้นตอนการออกแบบชุดชั้นใน ก็ไม่ยุ่งยากอะไร เริ่มจากการวางรูปแบบ ตัดต่อด้วยเข็มเดี่ยว วางลูกไม้ เย็บซิกแซ็ก จับโพ้ง เย็บเข้าข้าง เข้าเป้า พอเป็นรูปร่างขึ้นมาก็เย็บยางขา เย็บทับยางเอว ล้ม 2 เข็มทับยาง เมื่อเสร็จเป็นตัวกางเกงแล้วจึงนำมาทดลอง โดยนำไปถูกับผิวหนัง หากระคายเคือง ก็จะทำใหม่ทั้งหมด

"วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างพวกเราจัดหา มาเอง แต่ละวันจะไปซื้อผ้าที่ใช้ทำชุดชั้นในจากตลาดผ้าตามที่ต่างๆ ใช้ค่าใช้จ่ายจากเงินกองกลาง พอเริ่มขาย ก็ได้รับการตอบรับดีมาก มีลูกค้าเป็นกลุ่มวัยกลางคน ลูกค้าบางรายจากต่างประเทศติดต่อเข้ามาให้เราทำถึง 400 ตัว แต่ทำไม่ไหว จักรก็มีไม่พอ หากได้จักร 2 เข็มมาช่วย จะทำให้ผลิตสินค้าเร็วขึ้น ที่สำคัญกำลังคนเรามีไม่มากพอ"

"ส่วนสถานที่ก็อาศัยขายใต้อาคาร ของกระทรวงไปพลางก่อน แต่หากทางกระทรวงตัดไฟ พวกเราก็จะออกไปทำกันที่อื่น ที่สำคัญในเดือนธ.ค.นี้ ทางแกนนำสหภาพฯ จะเดินทางไปรณรงค์ปัญหาการเลิกจ้าง พร้อมทั้งแนะนำสินค้าในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากบริษัทในยุโรปให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และการเคารพสิทธิของลูกจ้าง" สวี กล่าว

วิธีการต่อสู้ของแรงงานหญิง ไทรอัมพ์ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เมื่อปีพ.ศ.2518 มีเหตุนัดหยุดงานประท้วงของแรงงานตามโรงงานต่างๆ หนึ่งในนั้นคือโรงงานยีนส์ฮาร่า ย่านตรอกจันทน์ เพื่อเรียกร้องปัญหาค่าแรงและสวัสดิการ

ภายใต้การนำของ "นิยม ขันโท" แรงงานหญิงฮาร่า ผนึกกับกลุ่มนักศึกษาที่มี "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนผู้ล่วงลับ ร่วมด้วย

การต่อสู้ยืดเยื้อ นายจ้างไม่ยอมเจรจา และยังไล่คนงานที่ประท้วงออก ทำให้แรงงานหญิงไม่พอใจและยึดโรงงาน พร้อมทั้งตั้งชื่อโรงงานใหม่ว่า "สามัคคีกรรมกร" ผลิตสินค้าออกมาขาย โดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ และใช้โลโก้สินค้าเป็นรูปค้อนกับเคียว

จนฝ่ายอำนาจรัฐต้องปราบปราม โดยการใช้กำลังเข้าจับกุม และยึดโรงงานคืนในเดือนมี.ค. 2519

แต่ สำหรับกรณีแรงงานหญิงไทรอัมพ์ ในครั้งนี้พวกเขาใช้โลโก้รูปกำปั้น แทนการต่อสู้ พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ที่จะยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรมให้ถึงที่สุด

ท่านใดสนใจที่จะช่วยอุดหนุนสินค้า "ไทร อาร์ม" เพื่อใช้เป็นทุนในการต่อสู้ของพวกเขา สามารถคลิกเข้าไปดูที่ www.tryarm.blogspot.com หรือติดต่อได้ที่ 08-7020-6672 และ 08-7926-5231

Source : http://tryarm.blogspot.com/2009/11/blog-post.html