วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

Try Arm ชุดชั้นในเพื่อการต่อสู้


บทความชื่อ "Try Arm ชุดชั้นในเพื่อการต่อสู้" เขียนโดย อาศิรา พนาราม
เผยแพร่ครั้งแรกใน เวปของ TCDCCONNECT http://www.tcdcconnect.com/content/blog/?p=7052 เมื่อ October 19th, 2010
ภาพ : จากแหล่งเดียวกัน

เรื่อง : อาศิรา พนาราม

1959 คือ จำนวนพนักงานของบริษัทบอดี้แฟชั่น ผู้ผลิตชุดชั้นในแบรนด์ดัง ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมในวันที่ 29 มิถุนายน 2552 หลายเดือนต่อมา “1959” ได้กลายมาเป็นชื่อรุ่นของกางเกงชั้นในรุ่นแรก ที่ผลิตโดย Try Arm แบรนด์ชุดชั้นในเพื่อการต่อสู้ จากฝีมือของอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างนั้น



พนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดนี้มีอายุงานระหว่าง 10 – 20 ปี ทุกคนรู้สึกว่าบริษัทปฏิบัติต่อพวกเขาไม่ต่างอะไรกับผักปลา (นึกจะทิ้งขว้างกันก็ทำอย่างง่ายดาย) เพราะบริษัทบอดี้แฟชั่นทำการเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า แม้ว่าพวกเขาจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่บริษัทก็ได้ผิดต่อข้อตกลงที่เคยทำไว้กับสหภาพแรงงาน (ซึ่งรับรองโดยกฎหมาย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปีพ.ศ. 2518) เกี่ยวกับการชดเชยในกรณีถูกเลิกจ้าง ซึ่งระบุไว้ว่าต้องมีการแจ้งล่วงหน้า และสำหรับพนักงานที่มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป ต้องได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีกปีละ 20 วัน

จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด ถึงขนาดที่บริษัทเคยยินยอมฟังข้อเรียกร้องของสหภาพทุกอย่าง) บอกว่า “เงินชดเชยที่พวกเธอได้รับนั้นมีค่าแค่ชุดชั้นในชั้นดีเพียง 40 ตัว” ดังนั้นการต่อสู้เพื่อประท้วงต่อการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจึงเริ่มต้นขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป 8 เดือน โดยไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ (ทั้งจากทางบริษัทและทางราชการ) พวกเธอจึงต้องต่อสู้ด้วยไพ่ใบสุดท้ายที่มีอยู่ นั่นก็คือ ฝีมือการตัดเย็บชุดชั้นในคุณภาพดี

“ประท้วงไปก็ไม่มีใครสนใจ รัฐย่อมเอื้อประโยชน์กับนายทุนใหญ่อยู่แล้ว สู้มาทำสินค้าแข่งเลยดีกว่า ช่างฝีมือเราก็พร้อมทุกแผนก ทำไมจะทำไม่ได้ล่ะ” เสียงหนึ่งจากสาว Try Arm ดังขึ้นมา หลังจากวันนั้น “กางเกงในฝีมือแรงงานนอกระบบ” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ และการหาเลี้ยงปากท้องอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

“ฝีมือ” คือ ทุนรอนที่ใครจะมาพรากไปไม่ได้
“เราไม่ได้เรียนสูง ทำแต่โรงงาน จะออกไปทำอย่างอื่นก็ไม่ทำเป็น เราก็มีแต่สิ่งนี้เท่านั้นแหละ” พี่น้อย – วิภา มัจฉาชาติ หนึ่งในกลุ่ม Try Arm บอกกับเรา “สิ่งนี้” ในความหมายของพี่น้อย หมายถึง “ประสบการณ์” ที่สั่งสมจนเข้าเส้น กลายเป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจครั้งนี้ และเมื่อตัดสินใจจะเย็บกางเกงในขายกันเองแล้ว พี่จิตรา หัวหน้ากลุ่มก็จัดการกู้ยืมเงินจากองทุนสหภาพแรงงานมาเป็นทุนตั้งต้น เพื่อซื้อจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบ

ภาพของกางเกงในตัวแรกที่ผลิตจากใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงาน ถูกเผยแพร่ออกไปผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องของจิตรา ที่ลงทุนเดินทางไปประท้วงต่อบริษัทไทรอัมพ์ในหลายประเทศของยุโรป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอได้ออร์เดอร์ล็อตแรก (2,000 ตัว) จากยุโรปมาต่อทุน ต่อจากนั้นผู้คนที่เดินผ่านไปมาในละแวกกระทรวงฯ ก็เข้ามาถามไถ่จนกลายเป็นลูกค้า วงจรธุรกิจเล็กๆ นี้จึงเติบโตขึ้นเป็นลำดับ โดยมีอดีตพนักงาน 30 ชีวิต (จากทั้งหมด 1,959 ชีวิต) ที่ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย และทั้งหมดยอมรับค่าจ้าง 0 บาทในช่วงต้น ต่อมาไม่นานจิตราก็ริเริ่มทำบล็อกและเฟซบุ๊คของ Try Arm ขึ้น ซึ่งมีกระแสตอบรับดีมาก มีคนเข้ามาให้กำลังใจ สั่งซื้อ และสั่งไปขายมากมายทั่วประเทศ และมากขึ้นทุกวันๆ

ลาทีนายทุน ขอเป็นนายตัวเองดีกว่า
ในช่วงแรกๆ นั้นยังไม่มีอะไรมาบ่งบอกถึงสิ่งที่พวกเธอกำลังทำอยู่ แต่เรื่องราวที่ถูกบอกเล่าออกไปปากต่อปาก ทำให้หลายองค์กรเข้ามาศึกษาดูงาน จนเกิดการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” พัฒนาเป็นไปให้เป็นการดูถูกฝีมือ็ต้องดูัท ชื่อและโลโก้ขึ้นในเวลาต่อมา โดยกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ที่อาจารย์พามาดูงานนั้น ได้ตั้งชื่อเรื่องราวของพวกเธอว่า “Try Arm” พร้อมกับวาดรูป “กำปั้นชูขึ้นฟ้า” ไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ ทางกลุ่มเองชอบใจจึงนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์และจ้างคนทำโลโก้ โดยเลือกใช้กราฟฟิคและตัวอักษรที่เต็มไปด้วยอารมณ์แห่งการต่อสู้

ช่างฝีมือระดับนี้มีหรือจะไม่มีนายทุนมาแล…“มีนายทุนใหญ่มาติดต่อขอเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่เริ่มประท้วงกันที่กระทรวงแล้ว” สมาชิกคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง อย่างไรก็ดี สมาชิกทุกคนเห็นว่า หากยังมีคนออกทุนให้ พวกเธอก็ต้องเข้าสู่ระบบเดิมที่มีการกดขี่อยู่ดี พวกเธอขอเลือกที่จะเป็นนายตัวเองดีกว่า จากชีวิตสาวโรงงานมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวขนานใหญ่ โชคดีที่หลายคนเคยทำงานในสหภาพฯ จึงมีความเข้าใจภาพรวมของการทำงาน สามารถจัดระบบการทำงานโดยไม่มีเจ้านายลูกน้องขึ้นได้ (ที่นี่ทุกคนสามารถเสนอความคิด ช่วยกันแก้ไขปัญหา และยอมรับคำติเตียนของกันและกัน)

“กางเกงในทุกตัวต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด พวกเราทำกันมาขนาดนี้ของดีไม่ดีเราดูออกอยู่แล้ว สมัยก่อนมีหัวหน้าคอยตรวจอย่างเข้มงวด คราวนี้ก็ดูกันเอง แต่ไม่มีใครปล่อยนะ ไม่ดีก็ต้องแก้” นี่คือความภูมิใจของคนที่ทำสินค้าคุณภาพสูงมานาน การปล่อยสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพออกไปนั้นหมายถึงการดูถูกฝีมือตัวเอง

ที่สำคัญพวกเธออยากให้คนรากหญ้าได้ใช้ของดีมีคุณภาพ (ระดับขึ้นห้างฯ) บ้าง เพราะมันเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่า สมัยก่อนกางเกงในที่พวกเธอเย็บเองกับมือนั้น พวกเธอกลับไม่มีโอกาสได้ใส่ เพราะบริษัทตั้งราคาขายไว้สูงมาก เช่น 200 บาทขึ้นไป ทั้งที่จริงๆ มีต้นทุนเพียงหลักสิบเท่านั้น นี่เองคือที่มาว่าทำไมกางเกงใน Try Arm จึงมีสนนราคาอยู่ที่เพียง 59, 69, 79 และ 89 บาท ถึงตรงนี้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ Try Arm ทำนั้น ไม่ได้เรียกว่า”แฟชั่น” แต่เป็น “แฟร์เทรด” คือสร้างความยุติธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ ไม่มีการกดขี่แรงงาน และผู้ซื้อเองก็ได้ใช้ของดีในราคาที่เป็นธรรม

Try Arm บอกกับเราว่า พวกเธอขอทำธุรกิจแบบพอเพียง ได้กำไรมาแค่ไหนหรือมีทุนหมุนเวียนเท่าไร ก็ผลิตสินค้าต่อแค่นั้น ไม่ได้กะจะขยายกิจการใหญ่โตด้วยเงินกู้ ถึงตอนนี้เงินตั้งต้นที่ยืมมาจากกองทุนสหภาพแรงงานจำนวน 50,000 บาท (ที่ผันมาเป็นจักรและวัสดุ) ก็ได้ใช้คืนกองทุนฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

ทุกวันนี้ Try Arm มีออร์เดอร์เข้ามาสม่ำเสมอ จนมีกำไรพอสำหรับลงทุนเพิ่มและจ่ายค่าแรงให้ทุกคน โดยพวกเธอตกลงกันว่าจะรับค่าจ้างวันละ 250 บาท (ถ้ามีกำไรก็จะมีปันผลปลายปี) เงินจำนวนนี้ถือว่ายังน้อยกว่าสมัยทำงานให้บริษัทเดิม แต่ก็มากกว่าแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งสำหรับบางคนแล้วแม้จะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่แบกรับอยู่ แต่อย่างน้อยพวกเธอก็มีรายได้เลี้ยงชีพ มีงานที่ภาคภูมิใจ และที่สำคัญที่สุด คือได้ทำงานอย่างมีความสุข ไม่ถูกกดขี่จากใคร

อีกเรื่องที่สำคัญพอๆ กับการมีเงินเลี้ยงปากท้องก็คือ เรื่องของการพัฒนาคน ดูเหมือนว่างานที่ Try Arm นี้สามารถพัฒนาศักยภาพของคนๆ หนึ่งขึ้นมารอบด้าน เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอความคิด ทดลองทำงานหมุนเวียนกัน ได้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เคยได้แตะ จนบางคนถึงกับพูดว่า “ทำงานไทรอัมพ์มา 10 ปีไม่เคยได้จับจักรตัวนี้ ขอใช้หน่อยเถอะ”

ขยายสู่เครือข่ายเพื่อนสหภาพฯ
การที่ Try Arm โด่งดังขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีแกนนำเป็นนักเคลื่อนไหว ที่ผ่านมาจิตราได้เป็นตัวแทนของ Try Arm ไปเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลในหลายประเทศในยุโรป ซึ่งเธอได้รับการสนับสนุนจาก CCC หรือ Clean Cloth Campaign (เสื้อผ้าสะอาดปราศจากหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาจากการกดขี่แรงงาน) ประกอบกับพลังมวลชนที่สนับสนุนเธอผ่านเฟซบุ๊ค กลายเป็นเรื่องราวไม่ธรรมดาที่ถูกบอกเล่าปากต่อปาก และเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของกางเกงในที่ไม่ใช่แค่แฟชั่น …แต่คือการต่อสู้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
http://tryarm.blogspot.com/
http://www.cleanclothes.org/news/triumph-workers-sew-protest-panties
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=1022